ทาน คือ อะไร
ความหมายของ “ทาน” ที่เราทราบโดยทั่วไปนั้น หมายถึง การให้ ได้แก่ การเสียสละสิ่งของต่างๆ ของตน หรือให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น การให้นั้นจะให้ผลดีเต็มที่ เมื่อผู้ให้สามารถเอาชนะใจตนเอง ขจัดความตระหนี่ออกไปจากใจได้ คือให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ ขอเพียงให้ได้บุญกุศล และความสบายใจเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีความหมายของทาน ในลักษณะอื่นอีก ได้แก่
วัตถุทาน หมายถึง วัตถุสิ่งของที่ให้เป็นทาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ยานพาหนะ ดอกไม้ ที่นั่ง ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ เป็นต้น
เจตนาทาน หมายถึง ความคิดความตั้งใจที่เป็นเหตุให้บริจาคทาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้แล้ว
วิรัติทาน หมายถึง การให้ โดยงดเว้นจากการเบียดเบียนรังแกกัน หรือหมายถึงการให้ความปลอดภัย ให้อภัย (อภัยทาน) ซึ่งก็คือการให้ที่เป็นผลจากการรักษาศีลนั่นเอง เช่น เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๑ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น
อนึ่ง มีการให้บางอย่างที่เราพบเห็นโดยทั่วไป คือ การให้ที่หวังผลประโยชน์ตอบแทนแก่ตน เช่น ให้ข้าวแก่สุนัข หวังว่ามันจะเฝ้าบ้านให้เรา ให้อาหารเลี้ยงวัว หวังจะได้น้ำนมจากมัน หรือทำผิดกฎหมายแล้วให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตนพ้นผิด ฯลฯ การให้ในลักษณะเช่นนี้ในทางพระพุทธสาสนาไม่จัดว่าเป็นทาน
ผู้คนมักจะใช้สำนวน ทำบุญทำทาน คู่กัน แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายที่แท้จริง
บุญ คือ สิ่งที่ทำให้คุณภาพจิตดีขึ้น มีความสบาย สงบ สะอาด สว่าง เป็นสุข ตรงกันข้ามกับบาป บาป คือสิ่งที่ทำให้คุณภาพจิตเสียไป มีความไม่สบาย เดือดร้อน เศร้าหมอง เป็นทุกข์
ดังนั้น ทำบุญ จึงหมายถึงการทำคุณภาพจิตใจให้ดีขึ้น คือการทำความดี มีการให้ เป็นต้น
วิธีการทำบุญนั้นมีถึง ๑๐ วิธี (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ดังต่อไปนี้ คือ
๑. ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้
๒. สีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญสมาธิภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
๕. เวยยาวัจจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ความช่วยเหลือ ขวนขวายในกิจการงานที่ถูกที่ควร
๖. ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนา (แสดงความยินดี) ในการทำบุญกุศล หรือการทำความดีของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ¸ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญที่สำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้องดีงาม ตรงตามความเป็นจริง หรือสามารถย่อให้ง่ายขึ้นเป็น บุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ก็ได้ โดยจัดเป็น
ทาน ประกอบด้วย ทานมัย ปัตติทานมัย และปัตตานุโมทนามัย
ศีล ประกอบด้วย สีลมัย อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย
ภาวนา ประกอบด้วย ภาวนามัย ธัมมัสสวนมัย และธัมมเทสนามัย ทิฏฐุชุกัมม์
ทาน หรือ การให้ เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ จึงนับว่าเป็นการทำบุญ เพราะ “บุญ” คือการทำความดี การให้จึงเป็นหนึ่งในการทำความดี แต่ส่วนมากเราใช้แทนกันจนคุ้นชิน โดยเวลาถวายของแด่พระภิกษุสงฆ์ เรามักจะเรียกกันติดปากว่า “ทำบุญ” เพราะจิตใจของผู้ให้มีความศรัทธา ต้องการบุญกุศล จึงให้เพื่อชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ แต่เมื่อให้ของแก่คนยากจน หรือคนที่มีฐานะต่ำกว่า มักจะเรียกว่า “ทำทาน” เพราะจิตใจของผู้ให้มุ่งสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่คนยากจน
วัตถุประสงค์ของทาน
แบ่งตามลักษณะของการให้ ที่ประพฤติปฏิบัติกัน มี ๔ อย่างคือ
๑. การให้เพื่อชำระกิเลส คือ ความตระหนี่ในใจของผู้ให้ เรียกว่า บริจาคทาน หมายถึง การให้ด้วยการเสียสละเพื่อกำจัดความขุ่นมัวแห่งจิต โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้รับจะเป็นใครก็ตาม การให้แบบนี้ได้บุญมากที่สุด ยิ่งเรามีใจที่บริสุทธิ์ และให้แก่ผู้ที่บริสุทธิ์มาก ยิ่งได้บุญมาก
๒. การให้เพื่อตอบแทนคุณความดี เรียกว่า ปฏิการทาน หมายถึง การให้เพื่อตอบแทนหรือบูชาคุณความดีแก่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า หรือผู้ที่มีอุปการะแก่ตน การให้แบบนี้ผู้ให้อาจจะไม่นึกถึงบุญ แต่นึกถึงเฉพาะคุณความดีของท่าน เช่น การให้สิ่งของแด่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบุคคลต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าเราให้เพื่อการบูชาคุณความดี และนึกถึงบุญด้วย ย่อมมีผลานิสงส์มาก
๓. การให้เพื่อสงเคราะห์ เรียกว่า สังคหทาน การให้เพื่อผูกมิตร ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันในกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตน ไม่ว่าจะเป็นโดยส่วนตัว หรือโดยหน้าที่การงานก็ตาม โดยมุ่งที่จะให้เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้รับเป็นสำคัญ
๔. การให้เพื่ออนุเคราะห์ เรียกว่า อนุคหทาน ถึงการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนยากจน ด้วยจิตเมตตาสงสารเมื่อเห็นเขาตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตนหรือไม่ก็ตาม ก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือตามกำลัง
ประเภทของทาน
ทานแบ่งตามวัตถุ คือ สิ่งของที่จะให้ มี ๒ ประเภทคือ
๑. อามิสทาน การให้อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นทาน
๒. ธรรมทาน การให้ธรรมะ คือการให้ความรู้ ความถูกต้องดีงาม เป็นทาน
อามิสทาน
อามิสทาน คือการให้สิ่งของเป็นทาน เช่น สิ่งของที่เป็นปัจจัยสี่ หรือการให้ทานวัตถุ มีข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ เป็นต้น
อามิสทาน แบ่งตามทายก คือ ผู้ให้ มี ๓ ประเภท ดังนี้
๑. ทานทาสะ บางทีเรียกว่า ทาสทาน หมายถึงการที่ทายกให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอยเอง เช่น เมื่อได้มะม่วงมา ๓ ผล ก็เลือกผลที่เล็กที่สุดให้ไป หรือได้ ๓ ผลที่มีขนาดเท่าๆกัน ก็เลือกผลที่ไม่ชอบใจให้ไป การให้อย่างนี้เรียกทาสทาน เพราะว่าใจของทายกตกเป็นทาสของความตระหนี่แล้วจึงให้ ดุจการให้สิ่งของแก่คนที่เป็นข้าทาสบริวาร ฉะนั้น
๒. ทานสหาย บางทีเรียกว่า สหายทาน หมายถึง ทายกให้ของที่เสมอกันกับที่ตนบริโภคใช้สอย ตนบริโภคใช้ของอย่างไรก็คราวจะให้ของผู้อื่นก็ให้อย่างนั้น เข่น ได้มะม่วงมา ๓ ผล ก็ให้ผลที่ดี เช่นเดียวกับที่ตนจะบริโภค ดุจการให้สิ่งของแก่คนที่เป็นมิตรสหาย ฉะนั้น
๓. ทานสามี บางทีเรียกว่า สามีทาน หมายถึงทายกให้ของที่ดีประณีตกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอย โดยเลือกเอาสิ่งของที่ดีที่สุดให้ไป ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายเวลาจะให้ ก็ให้สามีทานเป็นส่วนมาก เช่น เวลาจะตักบาตรพระ จะคดข้าวปากหม้อ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุด เอาไว้ถวายพระก่อน หรือเวลาที่เลี้ยงพระภิกษุสามเณรจะตกแต่งข้าวปลาอาหารอย่างประณีต บรรจงกว่าที่ตนบริโภคถวายทาน หรือเวลาที่ให้ของแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง แม้ว่าจะมีฐานะเสมอหรือต่ำกว่า ก็เลือกของที่ดีที่ชอบใจให้ไป อย่างนี้เรียกสามีทาน เพราะใจของผู้ให้เอาชนะความตระหนี่ เป็นนาย เป็นเจ้าของ เป็นอิสระ แล้วจึงให้ทาน ดุจให้สิ่งของแก่คนที่ตนเคารพ หรือมีพระคุณแก่ตน เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ ฉะนั้น
อามิสทาน แบ่งตามเจตนาของผู้ให้ มี ๒ ประเภท คือ ปาฏิปุคคลิกทาน และสังฆทาน
๑. ปาฏิปุคคลิกทาน คือ ทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น เราจะทำบุญบ้าน เลี้ยงพระจำนวน ๙ รูป ก็เจาะจงไปว่า ขอนิมนต์พระรูปนั้นรูปโน้น การมีเจตนาเจาะจงนิมนต์เช่นนี้เรียกว่า “ปาฏิปุคคลิกทาน”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอานิสงส์ของปฏิปุคคลิกทาน ๑๔ อย่าง ว่าให้ผลตามลำดับ ดังต่อไปนี้
อานิสงส์ของปาฏิปุคคลิกทาน
๑. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ด้วยความเมตตาสงสาร ได้อานิสงส์ถึง ๑๐๐ ภพ คือได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ อย่างละ ๑๐๐ อัตภาพ
๒. ให้ทานแก่ผู้ทุศีล ได้อานิสงส์ถึง ๑,๐๐๐ ภพ
๓. ให้ทานแก่ผู้มีศีล ในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ภพ
๔. ให้ทานแก่ดาบสที่ได้อภิญญา ในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์ถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิภพ
๕. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน ผู้เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิตก็ตาม จะเป็นฌานลาภีบุคคล (ผู้ได้ฌาน) หรือไม่ใช่ฌานลาภีบุคคลก็ตาม เป็นผู้มีศีล เข้าถึงไตรสรณคมน์ ได้อานิสงส์ถึงอสงไขยภพ
๖. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล ย่อมมีอานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๗. ให้ทานแก่ผู้ที่ดำเนินการปฏิบัติ เพื่อเป็นพระสกทาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๘. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๙. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอนาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๑๐. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๑๑. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๑๒. ให้ทานแก่พระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๑๓. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
๑๔.ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้ที่ปรารถนาความสุขและต้องการพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร ในขณะที่บริจาคทานให้แก่ปฏิคาหกทั้ง ๑๔ จำพวกนี้ ความปรารถนาที่จะพ้นทุกขก็จะสำเร็จได้โดยเร็ว
๒. สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่หมู่คณะไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อผู้ให้ต้องการถวายปัจจัยไทยธรรม (สิ่งของที่ควรถวายพระ) ก็เต็มใจถวายแก่ภิกษุทั้งนั้น ด้วยความเคารพยำเกรงในสงฆ์ (หมู่คณะ) โดยมิได้เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น เมื่อจะนิมนต์พระไปทำบุญบ้าน ก็เข้าไปหาเจ้าอาวาส หรือเจ้าหน้าที่รับนิมนต์ของวัด กราบเรียนท่านว่าจะทำบุญบ้าน ขอนิมนต์พระสงฆ์ไปรับไทยธรรม ๙ รูป ทางวัดจะส่งพระรูปใดไปรับไทยธรรม ก็มีความยินดี เต็มใจถวายทานแก่ท่าน ทานที่ผู้ให้มีเจตนากว้างไม่เจาะจงนิมนต์อย่างนี้ เรียกว่า สังฆทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อถวายทานแด่สงฆ์ ๗ ประเภทนี้ เรียกว่า สังฆทาน
ได้มีคำอธิบายใน ทักขิณาวิภังคสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ถึงคำว่า “สงฆ์” ว่าสงฆ์มี ๗ ประเภทคือ
๑. สงฆ์ ๒ ฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒. สงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว
๓. ภิกษุสงฆ์
๔. ภิกษุณีสงฆ์
๕. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุสงฆ์
๗. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุณีสงฆ์
สรุปว่าในปัจจุบันนี้ เราสามารถถวายทานแด่สงฆ์ได้ ในข้อที่ ๓ และ ๖ (เพราะภิกษุณีสงฆ์ไม่มีแล้ว) สงฆ์จึงมีอยู่ ๒ แบบคือ
๑. พระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป จัดว่าเป็นสงฆ์ในพระวินัย การถวายทานแด่หมู่ภิกษุที่ไม่เจาะจงตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ก็จัดเป็นสังฆทาน
๒. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้ไปรับไทยธรรม เช่น เราไปนิมนต์โดยขอภิกษุกับคณะสงฆ์ว่า ขอจงส่งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปรับสังฆทานที่บ้านด้วยครับ ครั้นได้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็มีความเคารพยำเกรงในภิกษุรูปนั้น ยินดีว่าได้สงฆ์มาแล้ว ก็เต็มใจถวายทานนั้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า สังฆทานเหมือนกัน
องค์ของการให้
องค์ของการให้ หรือเรียกว่า ทานสมบัติ ในทางพุทธศาสนามุ่งสอนในเรื่องของการให้ เพื่อทำให้ใจของเราบริสุทธิ์สะอาด ยิ่งมีความบริสุทธิ์มาก ก็จะได้ผลคือบุญมาก ผู้ให้จะต้องทำให้ครบด้วยองค์ทั้ง ๓ ที่เรียกว่า ทานสมบัติ ๓ ข้อ คือ
1.วัตถุบริสุทธิ์
หมายถึง สิ่งของที่จะบริจาคทาน จะเป็นอะไรก็ตาม จะซื้อเขามาหรือขอเขามาก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งของที่เราทำมาหากินได้โยสุจริต ไม่ได้ลักขโมย คดโกง เบียดเบียน หรือหลอกลวงเขามา ถ้าเป็นของซื้อ เงินที่ซื้อต้องเป็นเงินที่เราทำมาหากินได้โดยสุจริตธรรม ทานนี้จึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์ ดังเช่น วัตถุทานของชายตัดฟืนที่ได้มาด้วยการรับจ้างอ จัดเป็นวัตถุบริสุทธิ์แท้
2.เจตนาบริสุทธิ์
หมายถึง เจตนาของผู้ที่ให้ จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งให้เกิดความดีงาม ให้ใจใส ใจสะอาด ไม่ได้ให้เพื่ออวดมั่งมี อวดรวย อวดดี หรือโอ้อวด อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น เพราะการให้เช่นนั้นจะเป็นการให้ที่มีเจตนาที่เห็นแก่ตัว ทำไปแล้วใจจะไม่สบาย ใจไม่บริสุทธื ในข้อนี้จะเห็นว่า การให้สังฆทานเป็นการให้ทานที่มีผลสูงสุด เพราะผู้ให้ตัดเจตนาเห็นแก่ตัวออกไปทั้งหมด ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้ทานอย่างแท้จริง
เจตนาบริสุทธิ์เต็มที่ จะต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล คือ
ปุพพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนที่จะให้ทาน เช่น ตั้งใจว่าพรุ่งนี้เช้าจะตักบาตร ก็มีความดีใจ ปลื้มใจ ปีติใจว่าเราจะได้ทำบุญด้วยการให้ทาน
มุญจนเจตนา หมายถึง เจตนาในขณะที่ให้ เช่น ในเวลาตักบาตร ก็มีใจเลื่อมใส ยินดีที่ได้ทำ เต็มอกเต็มใจถวายทานนั้น ทั้งไม่ยอมให้อารมณ์ขุ่นมัวเกิดขึ้นในขณะที่ทำเลย
อปราปรเจตนา หมายถึง เจตนาหลังจากที่ให้แล้ว เช่น หลังจากตักบาตรเรียบร้อยแล้ว มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานใจ นึกถึงบุญเมื่อใด ก็มีความสุขใจเมื่อนั้น ไม่มีความร้อนใจ นึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้ว
อานิสงส์ของเจตนาบริสุทธิ์
ผู้ใดก่อนที่จะให้ทานเกิดความดีใจ(ปุพพเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้า ให้ชีวิตปฐมวัย (ตั้งแต่เกิดถึงอายุ ๒๕ ปี)ของผู้นั้นพบแต่ความสมบูรณ์พูนสุข เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งที่ดีงาม
ผู้ใดขณะที่ให้ทาน เกิดความเลื่อมใส (มุญจนเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญแห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้าให้ชีวิตในมัชฌิมวัย (อายุ ๒๖ – ๕๐ ปี) ของผู้นั้นพบกับความสุข ความสบาย บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติ
ผู้ใดหลังจากที่ให้แล้ว เกิดความเบิกบานใจ ไม่เสียดายทรัพย์ (อปราปรเจตนาบริสุทธิ์)อานิสงส์แห่งผลบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้าให้ชีวิตในปัจฉิมวัยของผู้นั้น (อายุ ๕๑ ปี ขึ้นไป)ถึงพร้อมด้วยความสุข สมหวังในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ สามารถใช้ทรัพย์ได้อย่างเบิกบานใจ ไม่เป็นเศรษฐีที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว
เมื่อผู้ใดมีเจตนาบริสุทธิ์ครบทั้ง ๓ ระยะอย่างนี้ ย่อมได้บุญมาก มีความสุขสมบูรณ์ตลอดชีวิต ดังเรื่องของ นางวิสาขา มหาอุบาสิกาที่จะกล่าวต่อไป
จะเห็นได้ว่าเจตนามี ๓ ระยะ แต่ละระยะจะส่งผลในแต่ละวัย ถ้าเจตนาดีจะส่งผลดี แต่ถ้าเจตนาระยะใดเสียไป วัยนั้นก็จะเสียไปด้วย เช่น ก่อนจะให้ทาน ผู้ให้รู้สึกไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่ครั้นถึงเวลาให้ เห็นพระภิกษุจำนวนมากมาย เกิดความเลื่อมใสขึ้น ยินดีในการให้นั้น และหลังจากให้แล้ว นึกถึงบุญทีไร ก็เกิดความปีติเบิกบานใจทุกครั้ง บุญที่ทำนี้จะส่งผลให้เกิดในภพชาติหน้า คือในช่วงปฐมวัย จะมีชีวิตที่ลำบาก ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆมากมาย ต่อมาเมื่อถึงมัชฌิมวัย ก็เริ่มประสบความสุข ความสำเร็จ และในปัจฉิมวัยก็มีความสุขความสบาย สามารถใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สุข และสร้างบุญกุศลได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น
อีกนัยหนึ่งในภพชาตินี้ ถ้าในช่วงปฐมวัยเรามีความสุขดี มัชฌิมวัยก็เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่ปัจฉิมวัยกลับพบแต่อุปสรรค มีทรัพย์ก็เสียดาย ไม่กล้าทำบุญ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แสดงว่าในอดีตนั้นเวลาทำบุญ ปุพพเจตนา มุญจนเจตนาดี แต่อปราปรเจตนาเสียไป ทำบุญแล้วใจไม่เลื่อมใส เสียดายทรัพย์ ดังนี้เป็นต้น
3. บุคคลบริสุทธิ์ บุคคลสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทานนั้น คือ ผู้ให้และผู้รับต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ ทายก(ผู้ให้) ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม ฉะนั้นก่อนถวายทาน จึงมีประเพณีสมาทานศีลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิคาหก(ผู้รับ) ต้องมีศีลาจารวัตรงดงาม มีคุณธรรมสูง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ว่า
ภิกษุสงฆ์ (ปฏิคาหก) เปรียบเหมือน นา
ผู้ถวาย (ทายก) เปรียบเหมือน ชาวนา
สิ่งของที่ถวาย เปรียบเหมือน พืช
เมื่อชาวนาหว่านพืชลงในนาที่ดี ผลย่อมไพบูลย์คือมีผลมาก ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้พิจารณาถึง นาบุญหรือบุญเขต ถ้าจะนิมนต์พระเจาะจง คือเป็น ปาฏิปุคคลิกทาน ก็ให้พิจารณานิมนต์พระที่เคร่งครัดสิกขาวินัย น่าเลื่อมใส ถ้าจะไม่นิมนต์พระเจาะจง คือ เป็นสังฆทาน ก็ให้พิจารณานิมนต์จากหมู่ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัดก่อน แล้วจึงให้ ดังพระบาลีว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การให้ด้วยพิจารณา พระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญ เป็นต้น
วิธีการทำทาน
เราท่านทั้งหลายต่างโชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทะศาสนา มีโอกาสทำทานกุศลอยู่เสมอ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าหากได้ทำทานครบองค์ประกอบของการให้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลบุญอย่างเต็มที่ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ดังนั้นในการทำทานครั้งต่อๆไป ควรทำตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งใจ ทำเจตนาของเราให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะทำทาน ด้วยการระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และคุณประโยชน์ของการทำทาน ที่ทำให้เราชนะความตระหนี่ในใจของเราได้ เป็นการชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปลูกจิตให้เลื่อมใสศรัทธา และปีติเป็นอย่างเต็มที่ว่าเราจะได้ทำทานในครั้งนี้
๒. แสวงหาไทยธรม (สิ่งของที่ควรให้ทาน) ด้วยความเพียรที่บริสุทธิ์ให้เหมาะสม และดูควรแก่ผู้รับ เมื่อได้มาแล้วพึงจัดแจงตกแต่งให้งดงาม สะอาด ประณีต ให้เป็นสามีทาน และควรให้ทานให้ครบถ้วนตามความในพระไตรปิฎก คือทานในพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม จะทำให้ได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ
สิ่งของที่ควรให้ทาน ท่านจัดไว้ใน พระสูตร ๑๐ คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ จัดไว้ในพระวินัย ๔ คือจีวร(เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต(อาหาร) เสนาสนะ(ที่อยู่อาศัย) คิลานเภสัช(ยารักษาโรค) และจัดไว้ในพระอภิธรรม ๖ (ปรมัตถ์) คือ สละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ) อธิบายไว้อย่างน่าฟังว่า “ทานในพระปรมัตถ์ ๖ คือ มีอายตนะ ๖ คือยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถอนความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ออกเสียได้ สละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้เสียได้ ก่อนเราเกิดมาเขาก็ยินดีกันอยู่อย่างนี้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้ ครั้นเราจะตายเขาก็ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างนี้เหมือนกัน ความยินดีเหล่านี้หากถอนอารมณ์ออกเสียได้ ไม่ให้เสียดแทงเราได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ของชาวโลก ไม่ใช่อารมณ์ของธรรม ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง นี่เขาเรียกว่า ให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่ เป็นทางไปแห่งพระนิพพานโดยแท้ และเป็นทานอันยิ่งใหญ่ทางปรมัตถ์”
สิ่งของที่ไม่ควรให้ทาน ได้แก่ สุรายาเสพติด มหรสพที่ทำให้ประมาทมัวเมา สัตว์เพื่อการผสมพันธุ์ ภาพหรือสิ่งของที่ยั่วยุกามารมณ์ และอาวุธเพื่อการทำมิจฉาชีพ
๓. ทำตนเองให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะให้ทาน ด้วยการสมาทานศีล๕ หรือศีล๘ แล้วนั่งสมาธิกลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ นึกถึงปฏิคาหก (ผู้รับ) เสมือนท่านเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นตัวแทนของสงฆ์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. ตั้งจิตอธิษฐาน ด้วยการยกทานนั้น “จบ” เหนือศีรษะว่า “ขอให้ทานของข้าพเจ้านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น……จะเริ่มต้นด้วยให้ความสมบูรณ์พูนสุข หรือด้วยอะไรก็ตาม แต่ลงท้ายให้เป็น…..นิพพานปัจจโย โหตุ (จงเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพาน) ดังที่บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนจบอธิษฐานก่อนให้ทานว่า “…..ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลเทอญ” จะทำให้ใจของเราใสสะอาดเต็มที่ในขณะที่ให้
๕. เมื่อทำทานเสร็จแล้ว ให้สละทานออกจากใจ ไม่คิดเสียดายทรัพย์เลย ให้ปีติเบิกบานใจทุกครั้งที่นึกถึงทานที่ทำแล้ว บุญจากการทำทานนั้นก็จะส่งผลเต็มที่ทันที เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้วควรอุทิศส่วนกุศลผลบุญนั้น เป็นปัตติทานมัย จะด้วยการกรวดน้ำให้ หรือตั้งจิตอุทิศให้ก็ได้ ขอเพียงจิตเป็นสมาธิ บุญจึงจะสำเร็จประโยชน์ ด้วยคำอุทิศส่วนกุศล ดังพระบาลีว่า
“อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย“
ขอส่วนแห่งบุญนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่หมู่ญาติ
ของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลาย จงอยู่เป็นสุขเถิด
“อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย“
ทานที่ให้ผลทันตาเห็น
เมื่อเราทำทานแต่ละครั้ง บุญจะเกิดขึ้นในใจเราทุกครั้งไป เราพอจะรู้ได้ คือรู้สึกสบายใจ ใจผ่องใส ใจเป็นสุข เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกว่าสบาย ผ่องใส เป็นสุข นี่คือ อาการของบุญ ดุจกระแสไฟฟ้าที่เราไม่เห็น แต่จะรู้ได้จากอาการของมัน เมื่อเราเปิดสวิตซ์ให้กระแสไฟฟ้าเข้าไปในพัดลม ทำให้ใบพัดหมุนได้ ให้เข้าไปในเตารีด ทำให้มีความร้อนได้ ให้เข้าไปในตู้เย็น ทำให้เกิดความเย็นได้ ใบพัดหมุนก็ดี ความร้อนก็ดี หรือความเย็นก็ดี นั่นคืออาการของไฟฟ้า บุญก็เช่นกัน โดยทั่วไปเราไม่เห็นกระแสบุญ แต่รับรู้อาการของบุญได้ (ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมแล้ว จึงสามารถเห็นกระแสบุญได้)
บุญเป็นกระแสละเอียดที่เกิดขึ้นในใจเรา เป็นดวงบุญใสสว่าง โตใหญ่แตกต่างกัน เมื่อทำบุญมาก ดวงบุญก็ใสสว่าง โตใหญ่ไปตามลำดับ ดังที่พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ) ได้สอนไว้ว่า
“บุญที่เกิดจากการบริจาคทานนั้น เมื่อบริจาคบ่อยครั้งเข้าๆ
รวมกันได้ขนาดโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๑ คืบ
หรือขนาดเท่าดวงจันทร์ แล้วดวงบุญนั้นจะกลั่นตัวเองเข้าเป็นบารมี
ที่เรียกว่า ทานบารมี ได้ดวงทานบารมีราวๆ วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว”
ทุกครั้งที่ทำความดี มีการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา จะเกิดกระแสบุญ ซึ่งเป็นคุณเครื่องชำระใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้ใสสว่าง แล้วรวมกันเข้าเป็นดวงบุญ ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นๆ ดวงบุญนี้มีอานุภาพที่จะดึงดูดทั้ง ๓ คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา
ยามที่เรามีบุญมาก บุญส่งผล สมบัติต่างๆ ก็จะมาหาเรา ยามที่บุญน้อย หรือหมดบุญ กระแสบุญก็อ่อนกำลังลงไปหรือหมดไป สมบัติที่มีอยู่ก็ค่อยๆ ร่อยหรอไป หรือพลัดพรากจากเราไป เพราะไม่มีกระแสบุญที่จะดึงดูดสมบัติมาได้
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราทำความชั่ว หรือมีความโลภ ความตระหนี่ จะเกิดกระแสกิเลสขึ้นมาผลักสมบัติ ๓ ออกไป ทำให้คุณภาพชีวิตของเราเสียไป เพราะฉะนั้นคนที่ทำทานไว้ดี จึงเกิดเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย เพราะทานกุศล ทำให้เกิดบุญ บุญก็ดึงดูดสมบัติต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาในชีวิต
บุญที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรามี ๒ ระยะ คือบุญเก่า (บุญในอดีต) และบุญใหม่ (บุญในปัจจุบัน)
บุญเก่า คือ บุญที่ทำมาในชาติที่แล้ว
บุญใหม่ คือ บุญที่ทำมาตั้งแต่แรกเกิดถึงปัจจุบันนี้
ถ้าบุญเก่าทำมาดี จะส่งผลให้เกิดสมบัติ (ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ) ในชาติปัจจุบัน เช่น เกิดมามีรูปร่างงดงาม (รูปสมบัติดี เพราะบุญเก่าคือรักษาศีลมาดี) ร่ำรวยด้วยทรัพย์ (ทรัพย์สมบัติดี เพราะบุญเก่าคือทำทานมาดี) และมีความเฉลียวฉลาด (คุณสมบัติดี เพราะบุญเก่าคือเจริญภาวนามาดี) หรือมีอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในปัจจุบันไม่ได้ทำบุญ ทั้งยังตระหนี่ถี่เหนียว แต่ร่ำรวยได้ เป็นเพราะบุญในอดีตยังส่งผลอยู่นั่นเอง
ส่วนบางคนในชาตินี้ทำบุญทำทานมากมาย แต่ก็ไม่รวยสักที ถึงกับบ่นว่า “ทำดีไม่ได้ดี” หรือ “ทำบุญ บุญไม่ส่งผล” อย่างนี้ก็มี นี่เพราะในอดีตทำทานมาน้อย ดวงบุญเก่าดวงเล็ก จึงไม่สามารถดึงดูดสมบัติให้เกิดมากๆได้ ส่วนบุญใหม่ที่ทำในชาตินี้ จะรอส่งผลในภพชาติหน้า
แต่ก็มีบางคนที่เกิดมาโชคดี ที่สามารถทำบุญใหม่ในชาตินี้ แล้วได้ผลบุญทันตาเห็น เป็นเพราะได้สร้างบุญในเขตบุญอันอุดม ที่เรียกว่า สัมปทาคุณ (ความถึงพร้อมด้วยคุณพิเศษ) ซึ่งถ้าใครก็ตามได้สร้างบุญที่ประกอบด้วยสัมปทาคุณ ๔ ประการ ก็จะทำให้ทานที่บริจาคแล้วมีผลยอดเยี่ยม และให้ผลได้ในภพปัจจุบันทันตาเห็น
สัมปทาคุณ ๔ ประการ ประกอบด้วย
๑. วัตถุสัมปทา คือความถึงพร้อมแห่งวัตถุ ในที่นี้หมายถึงผู้รับ คือปฏิคาหก เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม ยิ่งมีคุณธรรมสูงมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ทานของผู้บริจาคแล้วมีผลมากขึ้นเท่านั้น
๒. ปัจจยสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งปัจจัย ในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่จะนำมาทำบุญ ต้องได้มาอย่างบริสุทธิ์โดยชอบ
๓. เจตนาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งเจตนา ในที่นี้หมายถึงมีเจตนาดี เจตนาเพื่อชำระกิเลส บูชาคุณ เพื่อสงเคราะห์หรืออนุเคราะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภ ยศ หรือชื่อเสียง มีเจตนาดีทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ก็ดีใจ กำลังให้ก็เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็เบิกบานใจ อย่างนี้เรียกว่าถึงพร้อมด้วยเจตนา
๔. คุณาติเรกสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งคุณพิเศษของปฏิคาหก คือ ผู้รับเป็นทักขิไณยบุคคลที่มีคุณธรรมพิเศษ ท่านระบุไว้ว่า ผู้รับจะต้องเป็นผู้ที่ออกจากนิดรธสมาบัติใหม่ๆ
อานิสงส์ของอามิสทาน
ทายกให้ทานแล้วแม้จะไม่หวังสิ่งของต่างๆ เป็นเครื่องตอบแทน แต่ทุกครั้งที่ให้แล้ว ย่อมเกิดเป็นความดีใจขึ้นมาในใจ ความดีนี้จะมีอานุภาพดึงดูดสิ่งที่ดีๆ มาให้เสมอ (มีผลานิสงส์เสมอ) เปรียบเสมือนดอกไม้ที่มีสีสวย เกสรมีน้ำหวานหอม ย่อมดึงดูดหมู่ภมรให้มาดูดกินน้ำหวานนั้นยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อเราให้ทานย่อมเกิดเป็นความดีขึ้นมาในใจเรา ให้เรารักษาความดีนี้ไว้ ความดีนี้จะมีอานุภาพดึงดูดสิ่งที่ดีมาให้
อานิสงส์ของทาน
๑. ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก
๒. คนดีเป็นอันมากย่อมชอบใจคบหาผู้ให้ทาน
๓. ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ ย่อมฟุ้งขจรไป
๔. ผู้ให้ย่อมแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่เก้อเขินในที่ประชุมชน
๕. เมื่อสิ้นชีพลง ผู้ให้ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
อานิสงส์ของทานบัณฑิต
บัณฑิต คือผู้ที่ฉลาดในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า จึงทำทานด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นให้ทำทานด้วย
บัณฑิตทำทานด้วยตนเองย่อมได้โภคทรัพย์ดังนี้
๑. ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายรอให้บริโภคใช้สอย ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา
๒. เมื่อประกอบกิจการงาน ย่อมประสบความสำเร็จ และมีทรัพย์สมบัติเกิดขึ้นได้โดยง่าย
๓. ทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นย่อมเป็นทรัพย์เย็น เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และไม่นำมาซึ่งความเดือนเนื้อร้อนใจ
๔. สมบัติที่มีอยู่ย่อมคงทนถาวร ไม่วิบัติด้วยภัยใดๆ
๕. สามารถบริโภคใช้สอยทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มอิ่ม ไม่มีความหวงแหนหรือตระหนี่
บัณฑิตชักชวนผู้อื่นให้ทำทานย่อมได้บริวารสมบัติดังนี้
๑. มีคนที่ซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นบริวารอย่างมากมาย
๒. ย่อมมีเพื่อนแท้ที่มีความจริงใจ ใฝ่ประโยชน์เกื้อกูลและสามารถพึ่งพาอาศัยได้
๓. ย่อมได้พบแต่สิ่งที่ดีงามและผู้คนที่ดี ได้พบแต่บัณฑิตผู้เป็นกัลยาณมิตร ศัตรูหมู่พาลหรือภัยอันตรายใดๆย่อมไม่มากล้ำกราย และด้วยอำนาจบุญที่ได้ชักชวนให้ผู้อื่นทำความดีนี้ ย่อมส่งผลให้คนพาลที่บังเอิญต้องผ่านเข้ามาใกล้กลับเปลี่ยนแปลงตนให้เป็นคนดีได้
๔. สามารถทำงานใหญ่ได้สำเร็จรวดเร็วดังใจ โดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกายใจ
๕. เมื่อถึงคราวคับขัน บุญย่อมรักษาให้สามารถผ่านพ้นมาได้โดยปลอดภัย
สัปปุริสทาน อย่างที่ ๑
ส่วนทานของสัตบุรุษ คือการให้ของคนดี คนมีปัญญา ผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิตนั้น จะให้ด้วยวิธีการที่ดี ซึ่งเมื่อให้แล้วทำให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ให้ดีขึ้น ประณีตขึ้น การให้แบบนี้จึงเป็นการให้ที่สมบูรณ์ทั้งผล และอานิสงส์ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“สัตบุรุษย่อมให้ทานโดยเคารพ ให้ทานโดยความยำเกรง ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ให้โดยเชื่อผลที่จะมีในอนาคต นี้เป็นทานของสัตบุรุษ”
ดังนั้นคนดี มีปัญญา เมื่อจะให้ควรให้แต่สัปปุริสทาน ซึ่งนำความสุข ความดีงามที่สมบูรณ์มาให้ในการดำเนินชีวิต
สัปปุริสทาน อย่างที่ ๒
ยังมีการให้ของคนดีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ที่เดียวกัน คือ ทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ ประกอบด้วย
๑.ให้ทานด้วยศรัทธา
๒. ให้ทานโดยความเคารพ
๓. ให้ทานตามกาล
๔. ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น
๑. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา คือ ให้ด้วยความเลื่อมใสในกรรมและผลของกรรมว่า ทำดีย่อมได้ผลที่ดี ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน คือ เป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำ และเชื่อในปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า คนเราจะบริสุทธิ์ได้ ด้วยการประกอบความดีด้วยกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์มาก จะสามารถเข้าถึงธรรมะภายในตน ซึ่งมีอยู่แล้วในสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ การน้อมนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติจะทำให้ตนมีความสุขขึ้น จนถึงขั้นตรัสรู้ธรรมได้
๒. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยความเคารพ คือ เคารพในตัวบุคคล มีความอ่อนน้อม เช่น การยกประเคนด้วยมือทั้งสอง เป็นต้น รวมทั้งให้ด้วยกิริยาอาการที่เคารพในทาน เช่น ยกมือจบเหนือหัวแล้วจึงให้ เป็นต้น
๓. สัตบุรุษย่อมให้ทานตามกาล คือ ในเวลาที่สมควร ซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้เท่านั้น เลยเวลานี้ไปก็ให้ไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว เช่น การถวายผ้ากฐิน เป็นต้น เป็นกาลทาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๕ อย่าง คือ
๑. อาคันตุกะ ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
๒. คมิกะทานให้แก่ผู้ที่จะเตรียมตัวเดินทางไปยังที่ต่างๆ
๓. ทุพภิกขะทาน ให้ในสมัยที่ข้าวยากหมากแพง (หายาก เศรษฐกิจตกต่ำ)
๔. นวสัสสะทานและนวผละทาน เมื่อมีข้าวใหม่ๆ หรือผลไม้ออกใหม่ๆ ก็นำมาทำทานก่อน
๕. คิลานะทาน ให้การอุปัฏฐากภิกษุผู้เจ็บป่วย
(ในกาลทานสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มี ๕ อย่าง คือ อาคันตุกะทาน คมิกะทาน ทุพภิกขะทาน นวสัสสะทาน และ นวผละทาน)
๔. สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ขาดแคลนปัจจัย ๔ ก็มีจิตอนุเคาระห่ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน
๕. สัตบุรุษย่อมให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น คือการให้ทานโดยไม่ทำลายคุณความดีของตนและผู้อื่น สัตบุรุษไม่ผิดศีล ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวายพระ เพราะการให้ทานอย่างนี้ เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง
อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมดกำลังใจ เกิดการกระทบกระเทือนใจ เช่น ทำบุญข่มคนอื่น ดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า เหล่านี้เป็นต้น
อานิสงส์ของสัปปุริสทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ไว้ว่า
- การให้ทานด้วยความศรัทธา จะทำให้เป็นผู้มีความมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีรูปร่างผิวพรรณสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
- การให้ทานด้วยความเคารพ จะทำให้เป็นผู้มีความมั่งคั่ง มีโภคทรัพย์สมบัติมาก มีบุตร ภรรยา ข้าทาสบริวารที่อยู่ในโอวาท มีความเคารพเชื่อฟัง ในข้อนี้พึงเห็นอานิสงส์ที่ตรงข้ามกับการถวายทานโดยไม่เคารพ (นางปัญจปาปี)
- การให้ทานตามกาล ทำให้เป็นผู้เข้าถึงความมั่งคั่ง มีโภคทรัพย์สมบัติมาก มีความมั่งคั่งในสมบัติตั้งแต่ปฐมวัย สามารถใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ การทำทานที่ถูกเวลา ถูกสถานที่ด้วยสิ่งของเหมาะสม เรียกว่าเป็นการทำทานตามกาล ผุ้มีอัธยาศัยทำทานตามกาลเช่นนี้ ย่อมเป็นพื้นฐานให้ทำความดีอื่นๆได้โดยไม่รีรอ เหมาะสม ถูกเวลา และเมื่อบุญส่งผลจะทำให้เขาได้รับสิ่งต่างๆ ตามเวลาที่ต้องการ ทำให้เขาสร้างบุญบารมีได้สะดวกและรวดเร็ว
- การให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้เป็นผู้มีความมั่งคั่ง มีทรัพย์ มีโภคะมาห ทำให้เต็มใจใช้ทรัพย์ที่ประณีต
- การให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้เป็นผู้มีความมั่งคั่ง มีโภคทรัพย์สมบัติมาก ทรัพย์นั้นสามารถนำมาใช้สอยได้เต็มที่ ไม่สูญหายหรือเป็นอันตรายไปด้วยภัยทั้งหลาย คือจากการถูกริบเข้าเป็นของหลวง ภัยจากไฟไหม้ จากโจรผู้ร้าย และจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ธรรมทาน
ธรรมทาน คือ การให้คำแนะนำสั่งสอนสิ่งที่ดี บอกศิลปวิทยาที่ดี มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เป็นเหตุให้มีความสุข รวมถึงการอธิบายให้รู้และเข้าใจในเรื่องบุญบาป ให้ละสิ่งที่เป็นอกุศล ดำรงตนอยู่ในทางกุศล ซึ่งจะนำพาตนให้สะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้
ธรรมทาน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ วิทยาทาน และ อภัยทาน
๑. วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ ยังแบ่งได้เป็นวิทยาทานทางโลก และวิทยาทานทางธรรม
๑.๑ วิทยาทานทางโลก คือ การสั่งสอนให้เกิดความรู้ ความสามารถในเชิงศิลปวิทยาการ เพื่อนำไปประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงชีวิต และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยความสะดวก สบายทุกอย่าง ดังนั้นทางพระพุทธศาสนาได้จัดความรู้ว่าเป็นขุมทรัพย์อย่างหนึ่ง ชื่อ “องฺคสมนิธิ” แปลว่า ขุมทรัพย์ติดตัวได้ บุคคลผู้มีความรู้ดีจึงเปรียบได้ว่ามีขุมทรัพย์ติดตัวไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เชื่อมั่นได้ว่าสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยแน่นอน
๑.๒ วิทยาทานทางธรรม (จัดเป็นธรรมทานแท้) คือ ความรู้ที่เป็นธรรมะนั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ด้วยเหตุที่ว่า การดำเนินชีวิตของทุกคนนั้น ถ้าขาดเสียซึ่งหลักธรรม ชีวิตจะพบแต่ความทุกข์ เดือดร้อน ผิดหวังตลอดไป ต่อเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะ และนำธรรมะมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม ย่อมเกิดความเจริญงอกงามในชีวิตของตน ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ในที่สุดก็ทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้
การให้คำสอนที่ถูกต้องที่เป็นธรรมะนั้น เปรียบได้ว่าเป็นการให้ขุมทรัพย์ที่เป็นอมตะติดตัวไว้ ให้ประทีปที่ติดตามไป ดังนั้นบัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า การให้ธรรมทานเปรียบเหมือนการให้ขุมทรัพย์ หรือประทีปที่จะเป็นเครื่องส่องทางชีวิต ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม นำชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญ
เมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำ ย่อมมีชีวิตที่ดีงาม เกิดในสุคติภพ เมื่ออบรมบารมีแก่กล้าแล้ว ย่อมสละละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง เข้าถึงพระนิพพานได้ เพราะเหตุนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “การให้ธรรมะ ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
๒. อภัยทาน คือ การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัยแก่ตนและผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรษเคืองในการล่วงเกินของผู้อื่น ไม่มีเวร ไม่ผูกเวรกับผู้ใด ทั้งยังมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นนิตย์
การให้อภัย เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เป็นการให้ที่ง่าย แต่คนเราทำได้ยาก เพราะมีกิเลสอยู่ในใจ ต้องอาศัยการฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นคุณประโยชน์ของการให้อภัย แล้วจะให้อภัยได้ง่ายขึ้น
การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการไม่เบียดเบียน จัดเป็นการให้ที่สูงขึ้นไปอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า มหาทาน ซึ่งจัดไว้ในเรื่องศีล ส่วนการให้อภัย คือ ทำตนเป็นผู้ไม่มีภัยกับตนเอง ใครที่สามารถสละภัย คือ โทสะ ออกจากใจได้ มีจิตใจสงบ สะอาด จิตจะประกอบไปด้วยเมตตา เมื่อทำไปแล้วถึงระดับหนึ่ง จัดว่าเป็นการภาวนา ที่เรียกว่า เมตตาภาวนา ซึ่งมีอานิสงส์สูงยิ่ง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
คุณสมบัติของผู้แสดงธรรม
เราได้ทราบแล้วว่า ธรรมทานประเสริฐกว่าทานทุกอย่าง แต่ธรรมทานนั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะมีผู้แสดงธรรม ซึ่งการแสดงธรรมให้ดี ให้เกิดประโยชน์สุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เลย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย
อานนท์ ผู้แสดง (พระธรรมกถึก) ก่อนแสดงธรรม พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วจึงแสดง คือ
๑. จักแสดงธรรมตามลำดับ ไม่ตัดวรรคถ้อยความ
๒. จักแสดงโดยปริยาย อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. จักอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรม (มีความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ฟัง)
๔. จักไม่เห็นแก่อามิส (หวังอยากได้ลาภผล)
๕. จักไม่กล่าวคำที่กระทบตนและผู้อื่น (ไม่ยกตนข่มท่าน หรือใช้คำเสียดสี)
ดังนั้นผู้ที่จะให้ธรรมทานพึงตั้งอยู่ในองค์คุณดังกล่าวมานี้จะยังประโยชน์ใหญ่ อานิสงส์ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นกับผู้แสดงธรรมได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผู้แสดงธรรมได้บุญกุศลมหาศาล ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า “บุคคลให้ธรรมเป็นทาน โดยไม่ปรารถนาลาภสักการะ ย่อมมีอานิสงส์ประมาณมิได้”
อานิสงส์ของผู้แสดงธรรม
เมื่อใดก็ตามที่มีการแสดงธรรมและฟังธรรมเกิดขึ้น ย่อมเป็นมงคลอย่างยิ่งกับสังคมนั้นๆ เป็นนิมิตหมายว่าความสุข ความสงบร่มเย็นจะบังเกิดขึ้น ธรรมะจะขจัดบรรเทาปัญหาทั้งปวง เกิดเป็นกระแสแห่งความดีเข้าแทนที่ สรรค์สร้างให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีคุณภาพ และเป็นฐานในการสร้างคนดี สร้างคนให้มีหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การแสดงธรรมจึงให้ประโยชน์ทั้งผู้แสดงธรรมเอง และผู้ฟังธรรมทั้งหลายด้วย
ในส่วนของผู้แสดงธรรมนั้น ย่อมเป็นที่ตั้งเป็นพื้นฐานของความดีทั้งหลาย จนถึงทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวงได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
“…ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ถ้าพระศาสดา
หรือเพื่อนพรหมจรรย์ของภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรมให้ฟัง
แต่ภิกษุนั้นแสดงธรรมตามที่ตนได้สดับเล่าเรียนมาให้ผู้อื่น
ฟังโดยพิสดารด้วยประการใดๆ เธอย่อมเป็นผู้รู้แจ้งอรรถ
และรู้แจ้งธรรมด้วยประการนั้นๆ ปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอ
ผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ปีติย่อมเกิดแก่เธอผู้มีความปราโมทย์
กายของผู้มีความปีติย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ (ปัสสัทธิ) ย่อม
เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น
ภิกษุทั้งหลาย วิมุตตายตนะ (เหตุแห่งความหลุดพ้น)
อันเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน
ส่งไปอยู่ (มีใจส่งไปในธรรมนั้น) ซึ่งยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น
หรืออาสวะทั้งหลายยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อม
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอันเยี่ยมยอดที่ยังไม่บรรลุ”
จากพุทธดำรัสนี้ ทำให้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงผลานิสงส์ของการแสดงธรรมว่า ผู้ที่แสดงธรรมย่อมได้รับคุณความดีหลายอย่าง จนกระทั่งทำให้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอันเยี่ยมยอดได้ ความข้อนี้ผู้แสดงธรรมย่อมประจักษ์ชัดด้วยใจตนเอง เพราะทุกครั้งที่จะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จิตของผู้แสดงธรรมย่อมน้อมไปในธรรมนั้นด้วย จะโดยการที่ต้องทบทวน ท่องจำ ตรึกตรองทำความเข้าใจ เหล่านี้ล้วนเป็นการชำระใจให้สะอาด บริสุทธิ์ อันเป็นทางมาแห่งปัญญา แตกฉานในอรรถและธรรม
เมื่อพิจารณาเห็นจริงตามธรรมนั้นจะรู้สึกปลาบปลื้มปีติใจ เป็นผลทำให้สามารถข่มกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ในขณะนั้น จึงเกิดความสงบกาย เป็นสุข สบายใจ ใจจึงตั้งมั่นเป็นสมาธิ และผลที่ยิ่งกว่านั้น คือทำให้ผู้ที่สั่งสมบุญมามากอาจจะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย สามารถบรรลุธรรมอันประเสริฐได้
ดังนั้น การให้ธรรมทานจึงเป็นทานที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นเลิศกว่าทานทั้งปวง เพราะทำให้ผู้ที่แสดงธรรม และผู้ฟังธรรมได้รับประโยชน์สุข คือความดีตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน ดังกล่าวมานี้
อย่างไรก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “การที่ได้ฟังซึ่งพระสัทธรรม เป็นของอันบุคคลได้โดยยาก” ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ
๑ ยากที่จะหาผู้เทศนาให้ฟัง คือ ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วแสดงธรรมเทศนาสั่งสอน หรือแม้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมและสั่งสอนแล้ว แต่ผู้ที่ได้ฟังหรือได้เล่าเรียนศึกษาไม่แตกฉานในธรรมวินัย เมื่อนำมาแสดงให้ผู้อื่นฟังก็ไม่เกิดความเข้าใจได้ จึงไม่เลื่อมใสศรัทธา
๒. ยากที่จะหาผู้เลื่อมใสในการฟังธรรม คือ คนมีนิสัยไม่อยากฟัง หรือแม้ได้ฟังก็ไม่ซาบซึ้งในรสพระธรรม มีความเกียจคร้าน ฟุ้งซ่าน ง่วงเหงาหาวนอน หรือเกิดเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ พิการบ้าใบ้ หูหนวก หรือเกิดในอบาย ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะฟังธรรมได้ จึงไม่สำเร็จประโยชน์ในการฟังธรรม
พวกเราทุกคนเป็นผู้มีโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้เกิดในประเทศที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง และคำสอนของพระสัพพัญญูพุทธเจ้ายังมีผู้สืบทอดนำมาแสดงอยู่เสมอ แต่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้ที่ได้ศึกษาธรรมนั้นหมั่นศึกษาศิลปะการถ่ายทอดธรรมะ และฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้สามารถแสดงธรรมได้ ซึ่งจะช่วยดำรงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไป
ย่อมเป็นไปเพื่อการตั้งมั่น ไม่เลอะเลือน ไม่เสื่อมสูญแห่ง
สัทธรรม ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม
(เรียนรู้พระไตรปิฎก)
๒. ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา
โดยพิสดาร (ให้ธรรมทานแก่คนจำนวนมาก)
๓. ภิกษุย่อมบอกธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา
โดยพิสดาร (การสนทนาธรรมอย่างง่ายๆ)
๔. ภิกษุย่อมสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา
แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร (อธิบายธรรมอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน)
๕. ภิกษุย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งพระสัทธรรมตามที่ได้ฟัง
และเล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
การให้ธรรมทานนั้นมีผลที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในส่วนของผู้ให้และในส่วนของผู้รับ โดยผู้ให้ย่อมได้รับอานิสงส์มากมาย ยิ่งกว่าการให้ใดๆ ดังกล่าวมาแล้ว ส่วนผู้รับนั้นย่อมได้รับความสุข ได้รับสมบัติที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่โลกียสมบัติ จนถึงโลกุตตรสมบัติ ซึ่งเป็นที่พึ่งอันเกษม
ความสำคัญประการหนึ่งของธรรมทาน คือ เป็นการสืบอายุพระพุทธศานาอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาของการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภพชาติต่างๆ นั้น พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ให้มาโดยตลอด ให้ตั้งติ่สิ่งที่เป็นอามิสทั้งหลาย จนกระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต ท้ายที่สุดพระองค์ทรงให้ธรรมทาน คือ พุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายได้น้อมนำหลักธรรมนั้นมาถือปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมาช้านาน เกิดเป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป ตราบจนถึงที่สุดแห่งสังสารวัฏ
ทานนั้น ปราชญ์สรรเสริญโดยมากอย่างแน่นอน
แต่บทแห่งธรรม ก็ยังประเสริฐกว่าทาน
เพราะว่าสัตบุรุษผู้มีปัญญาทั้งหลายในครั้งก่อน
หรือก่อนกว่านั้นอีก
เจริญสมถวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุพระนิพพาน
(อาทิตตชาดก ๒๗/๑๑๘๗)
อานิสงส์ของการฟังธรรม
ธรรมทานจะยังประโยชน์สุขให้เกิดอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผู้รับฟังต้องตั้งใจฟังด้วยดี ดังนั้นเมื่อเราจะฟังธรรม พึงฟังด้วยความเคารพ พร้อมด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตั้งใจเช่นนี้แล้ว การฟังธรรมย่อมมีอานิสงส์ดีเลิศ ดังต่อไปนี้
๑.ย่อมได้ฟังในเรื่องที่ไม่เคยฟังมาก่อน
๒.สิ่งที่ฟังมาแล้ว ก็ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
๓.บรรเทาความสงสัยได้
๔.ทำความเห็นให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน
๕. ย่อมยังจิตให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
การฟังธรรมย่อมนำประโยชน์ใหญ่ให้เกิดขึ้น เพราะทำให้ผู้ฟังที่ยังไม่มีศรัทธา ให้เป็นผู้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ทำผู้ที่ไม่เป็นพหูสูตให้เป็นพหูสูตขึ้น ทำผู้ที่ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นผู้ที่มีศีล สมาธิ และปัญญาบริบูรณ์ ผู้ที่ไม่มีฌาน ให้มีฌานขึ้น ผู้ที่ไม่มีวิปัสสนาปัญญา ให้มีวิปัสสนาปัญญาขึ้น ผู้ที่ไม่มีมรรคผล ให้มีมรรคผลขึ้น ผู้ที่ไม่มีวิชชาสาม ให้มีวิชชาสามขึ้น ผู้ที่ไม่มีอภิญญา ให้มีอภิญญาขึ้น
เพราะเหตุที่พระสาวกทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้ว จึงบรรลุผลที่ตนปรารถนา แม้บุคคลจะมีบุญวาสนามากก็ตาม เช่น พระสารีบุตร ผู้เลิศด้วยปัญญา หากมิได้ฟังธรรมเสียแล้วก็ไม่อาจจะบรรลุธรรมโดยลำพังตนเองได้ การฟังธรรม (ธรรมทาน) จึงสามารถทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตัวอย่างของพระสาวกที่ได้ฟังธรรมแล้วบรรลุมรรคผลนั้นปรากฏอยู่มากมาย
แม้บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ กำลังมุ่งหน้าไปสู่อบาย พอได้ฟังธรรมก็กลับจิตกลับใจเป็นสัมมาทิฏฐิ มีสุคติเป็นที่ไปได้ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งมีดวงตาเห็นธรรมสำเร็จมรรคผล ก็จะชื่นชมการแสดงพระธรรมเทศนาของพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมได้แจ่มแจ้งยิ่งนัก ดุจบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง จุดประทีปให้ในที่มืด
ผู้ให้ธรรมทานย่อมเป็นที่เคารพรัก เพราะให้สิ่งที่มีคุณค่าอย่างสูง ช่วยให้ผู้รับช่วยเหลือตนเองได้ในทุกภพทุกชาติ เป็นการให้ที่พึ่งของชีวิตอย่างแท้จริง ผู้ให้ธรรมทานจึงได้รับความเคารพนับถือมากกว่าผู้ให้สิ่งของเป็นทาน
อานิสงส์ของทานในกินททสูตร
ผลของการทำทานโดยทั่วไปแล้ว ย่อมทำให้ผู้ให้เกิดความอิ่มใจ มีความสุขสบายใจ แม้จะทำเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ให้อานิสงส์แก่ผู้ทำทานนั้นได้ ที่จะไม่ให้ผลนั้นเป็นไม่มี ไม่ว่าสิ่งของที่ต้องการจะทำทานนั้นเป็นอะไรก็ตาม ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ยิ่งทำทานถูกเนื้อนาบุญด้วยแล้ว ยิ่งได้รับอานิสงส์มาก
ดังนั้นเมื่อเราทำทานเรามักตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลบุญที่จากการทำทานนั้นส่งผลให้เราได้ในสิ่งที่เราปรารถนาซึ่งนอกจากการอธิษฐานจิตกำกับแล้วทานบางอย่างก็ให้อานิสงส์โดยตัวของทานเองดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอานิสงส์ของทานในกินททสูตร ดังนี้
ครั้งหนึ่งเทวดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “บุคคลให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้กำลัง ให้อะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้อะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
“ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
ผู้ให้ยาน ชื่อว่าให้ความสุข
ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
และผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง
ส่วนผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม”
ดูก่อนวัจฉะ
เราตถาคตกล่าวอย่างนี้ว่า
แม้สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบ่อน้ำครำ หรือ
หลุมโสโครกข้างประตูบ้าน ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ
หรือน้ำล้างขันไป ด้วยตั้งใจว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลาย
ที่อาศัยอยู่ในที่นั้น จงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยน้ำนี้เถิด
ดูก่อนวัจฉะ เรากล่าวว่า กรรมมีการสาดน้ำ
ล้างภาชนะนั้นเป็นทางมาแห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปใย
(ถึงการให้ทาน) ให้ผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า
(ชัปปสูตร ๒๐/๔๑๙)
ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
อัตภาพของคนเรานั้นจะดำรงอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยอาหาร แม้บุคคลจะมีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง มีกำลังมาก หากไม่ได้รับประทานอาหารมาหลายๆ วัน อาจจะหมดกำลังได้ ส่วนบุคคลผู้มีกำลังน้อย ถ้าได้รับประทานอาหารบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีกำลังขึ้นมาได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง”
ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
บุคคลแม้จะมีผิวพรรณดี มีรูปงามเพียงไร หากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สกปรกเหมือนผ้าขี้ริ้ว หรือไม่มีเสื้อผ้าเลย ย่อมไม่น่าดู ทั้งยังน่าเกลียดและถูกเหยียดหยามได้ ส่วนบุคคลที่นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย ย่อมดูงาม เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ”
ผู้ให้ยาน ชื่อว่าให้ความสุข
ในการเดินทางไกล บางครั้งผู้เดินทางอาจต้องพบความลำบาก จากหนทางที่ยาวไกลบ้าง ถนนที่ขรุขระรกไปด้วยหญ้าหรือขวากหนามที่แหลมคมบ้าง หรือต้องได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หลบซ่อนตัวอยู่บ้าง ต้องเผชิญกับแสงแดดที่แผดกล้าหรือมีฝนลมแรงบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ ความไม่สะดวกสบาย หากมีผู้ให้ยานพาหนะไว้ใช้สอย ให้อุปกรณ์ในการเดินทาง อย่างเช่น ร่ม รองเท้า หรือคอยถากถางหนทางให้เดินได้สะดวกยิ่งขึ้น สร้างบันได หรือสร้างสะพานไว้ให้ ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย คือให้ความสุข พระผุ้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข”
ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
ชนทั้งหลาย แม้มีดวงตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ ต่อเมื่อมีประทีปโคมไฟให้แสงสว่าง จึงสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความปรารถนาได้ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ได้ชื่อว่าให้จักษุ” ผู้ปรารถนาดวงตาที่ดีงาม พึงสั่งสมบุญกุศลให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญที่เกิดจากการให้ประทีปโคมไฟ อันจะนำมาซึ่งดวงตาอันเลิศ คือ ทิพยจักษุ
ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ตามธรรมดาของคนเดินทาง ย่อมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเสียกำลังไป และย่อมปรารถนาที่จะเข้าสู่ที่พักอาศัย เมื่อพักผ่อนสักครู่ก็จะได้กำลังคืนมา หรือผู้ที่ออกสู่กลางแจ้งต้องตากแดดตากลม ทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำลงได้ ต่อเมื่อได้เข้ามาพัก ผิวพรรณจึงกลับงดงามดังเดิม ผู้ที่เดินทางผ่านแดดร้อน อันตรายต่างๆ ในระหว่างทาง เมื่อได้พักอาศัยจะมีความสุขสบายปลอดภัยขึ้น หรือเดินอยู่ในท่ามกลางแสงแดดร้อนจ้า นัยน์ตาย่อมพร่ามัวไม่แจ่มใส เมื่อได้พักสักครู่ ดวงตาก็ใช้การได้ดีดุจเดิม ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ผู้ให้ที่อยู่อาศัย เป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”
ผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม
ส่วนผู้ให้ธรรมะเป็นทาน ได้ชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง เหตุเพราะว่าเมื่อบุคคลได้ฟังธรรม เกิดความศรัมธาเลื่อมใส และรู้จักบาปบุญคุณโทษ จะละบาปได้เพราะได้ฟังธรรม จะทำบุญถวายทานได้เพราะได้ฟังธรรม ถ้าไม่ได้สดับแล้ว ก็จะไม่มีศรัทธา แม้สิ่งของสักเล็กน้อย ข้าวสักทัพพีหนึ่ง ก็มิอาจจะให้ได้ จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จะเจริญภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะได้ฟังธรรม เพราะฟังแล้วรู้จักบุญบาป ว่าทำอย่างนี้จะได้บุญมาก ทำอย่างนี้จะได้มนุษยสมบัติ ได้ทิพยสมบัติ ได้สิ่งเหล่านี้เพราะว่าได้ฟังธรรม ฉะนั้น การให้ธรรมทาน จึงชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง
ส่วนผู้ใดมีสติปัญญา นำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสั่งสอนให้แก่ชนทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่า ได้ให้น้ำอมฤตธรรม เพราะว่าชนทั้งหลายจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน จะล่วงชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดารได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระสัทธรรม
ผู้ที่ได้ฟังธรรมย่อมมีจิตที่ผ่องใส ยกใจของตนเองให้สูงขึ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย มีกำลังใจทำความดีต่อไป และคุณความดีนั้นก็จะเจริญงอกงาม จนทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด ส่วนผู้ให้ธรรมะได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมได้รับสิ่งที่ประเสริฐและบรรลุมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกัน ดังนั้นธรรมะจึงให้ผลทั้งแก่ผู้แสดงและผู้ฟัง
ทานบารมี
ก้าวแรกแห่งการเป็นพระพุทธเจ้า
การให้ทาน ย่อมให้อานิสงส์ ส่งผลดีงามแก่ชนทั้งหลายดังกล่าวมา แม้พระโพธิสัตว์คือผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเบื้องหน้า ก็มีอัธยาศัยรักการให้ทานทุกภพทุกชาติ ทานที่ท่านเหล่านั้นทำแล้ว สั่งสมเกิดเป็นบุญ และบุญที่สั่งสมมากขึ้นๆ ย่อมนำไปสู่วิถีทางที่เข้าถึงความเป็นเลิศ (บารมี) พระโพธิสัตว์ได้สั่งสมบารมีของตน จนกระทั่งได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะต้องตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน (เป็นนิยตโพธิสัตว์) แม้ผู้มีบุญมากขนาดนี้ เมื่อปรารภถึงธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) ก็ยังเลือกเอาทานบารมีเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตสู่การเป็นพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุว่า ทานบารมีเป็นบารมีที่เกื้อกูลต่อการสร้างคุณความดีอื่นๆ ต่อไป เพราะธรรมชาติของการให้นั้น เป็นสิ่งที่กระทำแล้วทำให้เกิดสุข เป็นสุขที่มั่นคง ยั่งยืน เผื่อแผ่ได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งให้ก็ยิ่งเกื้อกูล เป็นประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมสละความสุขของตน ซึ่งถือว่าเป็นสุขส่วนน้อย เพื่อมุ่งประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ อันจะช่วยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ได้นั้น นับเป็นการเสียสละที่มีคุณค่า สะอาดบริสุทธิ์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายต่างก็ประพฤติตนเยี่ยงนี้ ดังพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า ผู้มีปัญญาพึงเสียสละสุขเล็กน้อย เพื่อให้เกิดสุขอันยิ่งใหญ่
พระโพธิสัตว์ปรารภเรื่องทานบารมี
เมื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพุทธพยากรณ์แล้ว ทรงสงเคราะห์พาหมู่แห่งพระสาวกข้ามร่างของฤาษีที่ทอดเป็นสะพานไป ส่วนสุเมธฤาษีมีจิตยินดีสุดประมาณ ดุจดังว่าจะได้บรรลุผลเป็นพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้นทีเดียว แล้วเริ่มพิจารณาว่า ทีอะไรหนอ ที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ (พุทธการกธรรม)
เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้ว ได้ระลึกดูรู้ว่า “ทานบารมีเป็นบารมีแรกที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติกันมา เราควรสร้างทานบรมีนี้ก่อนบารมีอื่นๆ” ดังมีหลักฐานแสดงไว้ในขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ว่า
วิจินนฺโต ตทา ทกฺขึ ปฐมํ ทานปารมี
ปุพฺพเกหิ มเหสีหิ อนุจิณฺณํ มหาปถํ
ความว่า เรา (สุเมธฤาษี เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว) ก็พิจารณาดู (ธรรมที่จะทำให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า) ได้เห็นทานบารมี เป็นบารมีแรกเป็นทางอันประเสริฐที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายในอดีตประพฤติปฏิบัติกันมา
พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกาล ทั้งหลายมีความเห็นตรงกันว่า ก้าวแรกที่จะทำให้สร้างบารมี สร้างความดีเป็นพระพุทธเจ้าได้คือ ทานบารมี และพิจารณาเห็นบารมีต่อๆ มาตามลำดับ คือ ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี
ท่านได้ทราบว่าบารมี ๑๐ ข้อนี้ เป็นคุณธรรมที่ผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้นคุณธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้จึงเรียกว่า พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) และเรียกว่า บารมี
บารมี หมายถึง คุณธรรมที่ทำให้ความปรารถนาเต็มเปี่ยมได้หรือปฏิปทาที่ทำให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยม (เป็นเลิศ) ได้
ดังนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าได้พิจารณาเห็นตรงกันว่า ทานบารมีนี้แหละ จะเป็นบารมีแรกและเป็นบารมีที่สำคัญยิ่ง ที่จะส่งเสริมการบำเพ็ญบารมีอื่นๆ ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
เหมือนอย่างเราจะบำเพ็ญศีลบารมี ถ้ามีทานเป็นพื้นฐานอย่างดีแล้ว ย่อมบำเพ็ญศีลได้ดี บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ทำให้ศีลบารมีเต็มเปี่ยมได้รวดเร็วขึ้น ในบารมีอื่นก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีทานเป็นบารมีพื้นฐานแล้ว ย่อมบำเพ็ญได้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ดี และเต็มเปี่ยได้เร็วยิ่งขึ้น
ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ผู้ที่มีบุญมากๆ ได้พิจารณาเห็นตรงกันทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตว่า ทานบารมีนี้แหละเป็นก้าวแรกแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่จะทำประโยชน์สุขได้สมบูรณ์ที่สุดและนำไปสู่การเป็นพระพุทธเจ้า
ทาน จัดเป็นบารมี แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น (แบ่งตามสิ่งที่ให้เป็นประมาณ)
๑. ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ภายนอก (วัตถุสิ่งของ)
๒.ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ เลือด เนื้อ
๓.ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต
เมื่อเราคิดจะให้และให้ได้แล้ว ย่อมดีใจ สุขใจ เพราะชนะความตระหนี่ในใจตนเองได้ ใจจะกว้างขึ้น บริสุทธิ์มากขึ้น เกิดปัญญาที่รู้ชัดว่า สุขที่เกิดจากการให้นั้นเป็นสุขที่ยั่งยืน สุขที่ปลอดโปร่ง เบาสบาย สะอาดบริสุทธิ์ จนทำให้มีนิสัยรักการให้ ดังนั้นจึงสามารถให้ได้อย่างสม่ำเสมอและให้ได้เพิ่มขึ้น แม้ในสิ่งที่ให้ได้ยาก ตั้งแต่ทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้สั่งสมการให้อย่างนี้มาช้านาน จึงสามารถให้ได้อย่างเต็มใจ ยิ่งถ้าการเสียสละนั้น จะนำประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ด้วยแล้ว ยิ่งยอมเสียสละได้ทั้งหมด ทั้งทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต ดังพุทธภาษิตว่า
พึงสละทรัพย์ เพื่อเห็นแก่อวัยวะ
พึงสละอวัยวะ ในเมื่อจะรักษาชีวิต
พึงสละได้ทั้งหมด ทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และชีวิต
ในเมื่อนึกถึงธรรม
การให้จึงเป็นก้าวแรกที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพระโพธิสัตว์เจ้าให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางการสร้างบารมีได้เป็นอย่างดี และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป
ทานบารมี
พระโพธิสัตว์ได้เวียนว่ายตายเกิด สั่งสมบุญบารมีเรื่อยมา ไม่ว่าพระองค์จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ทรงมีพระทัยมั่นในการสร้างทานบารมีอยู่เสมอ ถึงแม้มนุษย์ เทวดา มาร พรหม มาห้ามไว้ ก็ไม่อาจจะขัดขวางการสร้างทานบารมีของพระองค์ได้
ทานอุปบารมี
การให้อย่างต่อเนื่องย่อมเพิ่มพูนความเมตตาความปีติแก่ผู้ให้ ทำใจให้เปิดกว้าง เชื่อมั่นในการทำความดี น้อมนำไปเพื่อการให้ยิ่งๆขึ้นไป แม้กระทั่งอวัยวะในร่างกายของตนเอง พระโพธิสัตว์ก็ยินดีที่จะให้โดยไม่หวั่นไหวเลย
ทานปรมัตถบารมี
พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญทานมามากทั้งวัตถุทาน วิทยาทาน ให้เลือดเนื้ออวัยวะ ตลอดแม้กระทั่งให้ชีวิตอันเป็นที่รักยิ่งของตนเป็นทาน ดังที่เรียกว่า “ทานปรมัตถบารมี” ถึงแม้บางชาติพระองค์จะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่อัธยาศัยของการเป็นผู้ให้ก็มิได้ลดน้อยถอยลงเลย ยังคงมีน้ำใจอันประเสริฐยิ่ง ยอมสละชีวิตให้เป็นทาน
พระโพธิสัตว์ทรงมีพระทัยมั่นในการให้ทาน ไม่ว่าจะเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ไม่หวาดหวั่นเลย แม้ไม่มีสิ่งใดให้ทานแล้วก็ยอมสละชีวิตทำความดีได้ ควรที่เราท่านทั้งหลายผู้มุ่งหวังความสุข ความสำเร็จในชีวิต จะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระโพธิสัตว์
ท่านผู้รู้กล่าวว่า ทานกับการรบ มีสภาพเสมอกัน
นักรบแม้จะมีน้อย ย่อมชนะคนมากได้
เจตนาเครื่องบริจาคแม้จะน้อย ก็ชนะหมู่กิเลส
แม้มากได้เหมือนกัน
ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ให้ทานแม้น้อย
เขาย่อมเป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคแม้มี
ประมาณน้อยนั้น
(อาทิตตชาดก ๒๗/๑๑๘๓)
บทสรุป
คนเราเมื่อเกิดมาในโลกนี้ ต่างล้วนปรารถนาชีวิตที่เป็นสุข ชีวิตที่มีคุณภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีจะส่งผลให้เกิดสิ่งที่ดี ๆ ตามมาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง แต่คุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับคุณภาพใจเป็นสำคัญ ใจของผู้นั้นจะต้องใส ต้องสะอาด และต้องบริสุทธิ์
ใจจะใส จะสะอาด จะบริสุทธิ์ได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นอะไรเลย หากเราเริ่มต้นที่การทำทานหรือการให้ การให้จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกชีวิต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม การให้จะช่วยแก้ไขปัญหาที่หนักทำให้เบา ที่วุ่นวายเคร่งเครียดทำให้ผ่อนคลาย ช่วยยกระดับชีวิตไปสู่จุดที่ดีขึ้น ประการสำคัญช่วยให้สามารถทำประโยชน์สุขให้มากขึ้น โดยประโยชน์นั้นมิใช่เฉพาะแก่ตนเอง แต่ยังขยายวงกว้างไปถึงผู้อื่นอีกด้วย
การให้นั้น ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ที่ให้แล้วไม่ได้เป็นไม่มี เพียงแต่ว่าการได้มานั้นหลากหลายรูปแบบ จนบางครั้งทำให้แยกแยะไม่ถูก แต่อย่างไรก็ตามที่สัมผัสได้ชัดก็คือ ทุกครั้งที่ให้เราจะได้ความสบายใจ ความสุขใจ และเมื่อนั้นความสะอาด บริสุทธิ์จะเกิดขึ้นในใจของเรา
ถ้าปราศจากการให้ การเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ก็เป็นการยากยิ่งที่คนเราจะพ้นทุกข์ พบสุขที่แท้จริงได้ เพราะต้นเหตุของความทุกข์ยาก ก็คือความโลภ ความอยากได้สุขที่เนื่องด้วยสิ่งภายนอก จนทำให้ชีวิตต้องดิ้นรนแสวงหาทุกวิถีทาง อันก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ความอยากนั้นจะไม่มีทางหมดไปได้เลย หากเราไม่เริ่มต้นด้วยการให้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาถึงความจริงของชีวิตอยู่เสมอว่า สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน มีเกิด แก่ เจ็บ และตายไปเป็นธรรมดา จึงควรที่เราจะใช้ชีวิตที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยนำสิ่งต่างๆ ที่ถูกสมมุติว่าเป็นของเรานั้น แท้จริงแล้วเราเป็นเพียงผู้รักษา และมีสิทธิ์ใช้สมบัติได้ต่อเมื่อเรามีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อเราตายไปสมบัตินี้ก็เปลี่ยนเจ้าของ ไม่สามารถติดตามเราไปได้
เมื่อเราโชคดีมีชีวิต ได้มนุษยสมบัติ พอที่จะหยิบยื่นอะไรให้กันได้บ้าง ก็ควรให้ เริ่มตั้งแต่ให้รอยยิ้ม ให้ความปรารถนาดี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้โอกาส ให้กำลังใจในการทำความดีแก่คนรอบข้าง แล้วเราจะรู้ว่าความดีนั้นทำได้ไม่ยากเลย ทั้งยังก่อให้เกิดความสุขอีกมากมาย
ความสุขจากการให้ เป็นความสุขที่กว้างขวาง เป็นความสุขที่ยั่งยืน ทำให้ใจเราสูงขึ้น กว้างขึ้น เหตุเพราะเราเริ่มที่ใจ ใจที่มุ่งมั่นสู่ความใส ความสะอาด บริสุทธิ์ เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ และชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีนั้นจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ อื่น ๆ ในสังคมอีกต่อไป ดังตัวอย่างชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ต่างฐานะ ชนชั้น เพศ วัย เช่น นายปุณณะ โชติกเศรษฐี พระเจ้าสีวิราช ฯลฯ ทุกท่านล้วนเริ่มต้นพัฒนาชีวิตด้วยการให้ ปูชนียบุคคลเหล่านั้นสามารถเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของเครื่องใช้ อาหาร บ้านเรือน แม้กระทั่งชีวิต เพื่อความดีงาม รักที่จะเป็นผู้ให้ ผู้สละ จนกระทั่งสิ้นแล้วซึ่งอาสวกิเลส เข้าถึงความเป็นผู้รู้แจ้ง เห็นแจ้ง ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด
และในความเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ได้สร้างประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ และแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ให้ก้าวข้ามพ้นภัยในวัฏฏสงสาร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เกิดสู่จุดหมายสูงสุดแห่งการสร้างบารมีได้ในที่สุด
ดังนั้น สาธุชนผู้ตระหนักในความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจสภาวธรรมทุก ๆ สภาพแล้ว พึงตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้ พัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความสุข ความเจริญ เริ่มตั้งแต่วันนี้ เวลานี้ โดยทั่วหน้ากันเทอญ
“การให้…มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่เราคาดคิด
การให้…นำเราไปสู่ชีวิตอันยิ่งใหญ่จนถึงความเป็นอริยะ
หากเราเริ่มต้น “ให้” ตั้งแต่วันนี้ เราย่อมสามารถพัฒนา
ชีวิตของเรา ให้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดแห่งชีวิตนั้นได้
และสามารถเป็นผู้ยืนยันด้วยตัวเองเช่นเดียวกับบรรพชน
ในกาลก่อนทั้งหลายว่า
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นของจริง ที่ให้ผล
จริงแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น”